กลุ่มอำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต 1


กลับหน้ารวมบทความทั้งหมด

 ว.ค.รอรัก



image


รายละเอียดเพิ่มเติม
     
ว.ค.รอรัก
พงษ์ชัย ไทยวรรณศรี
           วันที่  ๑๖  มกราคม เป็น “วันครู”
           ผมเคยนำเอาเรื่องราวของเพลง “แม่พิมพ์ของชาติ” ซึ่งเป็นเพลงที่เกี่ยวกับ “ครู” มาเผยแพร่ใน
วิทยาจารย์  ฉบับเดือนมกราคม  ๒๕๕๑  สำหรับ ปี  พ.ศ.  ๒๕๕๖  ก็คงต้องขอเขียนถึงเพลงที่เกี่ยวกับชีวิตของครูอีกครั้งหนึ่ง        
          เพลงนี้เป็นเพลงที่ได้รับความนิยมจากผู้ฟังเมื่อประมาณสามสิบปีที่แล้ว ...
          เนื้อหาหลักของเพลงเป็นเรื่องของ  ครูที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาออกไปบรรจุเป็นครู แล้วผิดหวังกับความรัก
          ว.ค.รอรัก  คือชื่อของเพลงครับ  ...
          คำว่า  ว.ค. นั้น นักเรียนนักศึกษาสมัยนี้คงไม่รู้จักแล้ว 
          แต่สำหรับครูซึ่งมีอายุสี่สิบปีขึ้นไปแล้ว ย่อมรู้จักกันเป็นอย่างดี  เพราะ  ว.ค.  หรือ  “วิทยาลัยครู” คือสถาบันหลักในการผลิตครูส่วนใหญ่ของประเทศ
          ก่อนจะถึงเรื่องของ   ว.ค.  ผมขอนำเอาเรื่องราวของการฝึกหัดครูมาปูพื้นฐานก่อน
          เมื่อประเทศไทยได้จัดการศึกษาในระบบโรงเรียน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งผลิตครู  จากหนังสือ “อดีตการฝึกหัดครู”  จากหนังสือ  “๑๑๑ ปีกระทรวงศึกษาธิการ  ๑  เมษายน  ๒๕๔๖ “  กล่าวไว้ว่า            
           “เมื่อเป็นดังนี้  จึงมีความจำเป็นที่จะฝึกครูให้สามารถสอนได้อย่างมีคุณภาพ  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ซึ่งขณะนั้นทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ  จึงมีพระดำริที่จะให้มีโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ขึ้น  แต่ต้องย้ายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเสียก่อน  และมีเจ้าพระยาภาสกรวงศ์เป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการต่อมา  โดยในวันที่  ๑๒  ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๕  โปรดให้ตั้งโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ขึ้นเป็นโรงเรียนหลวงประเภทไป-มา  โดยใช้สถานที่โรงเลี้ยงเด็ก ถนนบำรุงเมือง ซึ่งต่อมาคือ โรงเรียนสายสวลีสัณฐาคาร หรือ โรงเรียนเบญจมราชูทิศ และมีนายเอช.  กรีน.รอด  ชาวอังกฤษ เป็นอาจารย์ใหญ่ ในครั้งนั้น
มีนักเรียนอยู่ ๓ คน คือ นายนกยูง  วิเศษกุล (พระยาสุรินทรราชา)  นายบุญรอด  เสรษฐบุตร (พระยาภิรมย์ภักดี)  และสุ่ม  ต่อมานายบุญรอดและนายสุ่มลาออกไป  คงเหลือนายนกยูงแต่เพียงคนเดียว  รุ่งขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖  มีนักเรียนเพิ่มขึ้นอีก ๓ คน คือ นายสนั่น  เทพหัสดิน ณ อยุธยา (เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี)  นายสด  ผลพันธิน  (หลวงสังขวิทย์วิสุทธิ์)  และนายเหม  ผลพันธิน  (พระยาโอวาทวรกิจ)  นายนกยูงนั้นได้ลาออกไปเป็นครูเสียก่อนที่จะเรียนจบหลักสูตร  ปลายปี พ.ศ. ๒๔๓๘  นายสนั่นและนายสดสอบไล่ได้เป็นครูสอนภาษาไทยและภาษาอังกฤษ  ส่วนนายเหมสอบไล่ได้เป็นครูภาษาไทยทั้ง ๓ คนนี้ เป็นชุดแรกที่ได้รับประกาศนียบัตรครูของกรมศึกษาธิการ
          พ.ศ. ๒๔๓๘  นายเอช.  กรีน.รอด    ลาออกจากอาจารย์ใหญ่  นายอี  ยัง   เข้ารับตำแหน่งอาจารย์ใหญ่แทน  โดยมีนายสนั่น  เทพหัสดิน ณ อยุธยา  เป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่  ในปีเดียวกันนี้ทางการได้ส่ง นายสนั่น  นายนกยูง  นายเหลี่ยม  นายโห้  ไปศึกษาวิชาครูที่ประเทศอังกฤษ และเมื่อ นายอี  ยัง  ลาออก ในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ จึงโปรดให้นายเอฟ  ยี เทรส  เป็นอาจารย์ใหญ่แทนและดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่อยู่เป็นเวลานาน ๒๐ ปี
          พ.ศ. ๒๔๔๕  ย้ายโรงเรียนไปอยู่ตึกแม้นนฤมิตร  วัดเทพศิรินทราวาส เรียกว่า โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์เทพศิรินทร์  ได้ย้ายสถานที่ และเปลี่ยนชื่อหลายครั้ง  ครั้งสุดท้ายคือวิทยาลัยครูพระนคร  หรือสถาบันราชภัฏพระนครในปัจจุบันซึ่งเป็นวิทยาลัยครูแห่งแรกของประเทศไทย
          พ.ศ. ๒๔๔๖  ตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่โรงเรียนราชวิทยาลัยเก่า (บ้านสมเด็จเจ้าพระยา  ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงเรียนศึกษานารี)  เรียกว่าโรงเรียนฝึกหัดครู  ฝั่งตะวันตก รับนักเรียนต่างจังหวัด  เป็นโรงเรียนกิน-นอน  โดยมีเบี้ยเลี้ยงให้ด้วย  โรงเรียนนี้ผลิตครูมูลศึกษา (จบออกไปสอนชั้นมูลศึกษา)  
          พ.ศ. ๒๔๔๙  โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ย้ายมารวมกับโรงเรียนฝึกหัดครู  ฝั่งตะวันตก  รับนักเรียนทั้งในกรุงเทพฯ  และหัวเมือง  โดยให้ทุกคนอยู่ประจำ  รับนักเรียนเพิ่มขึ้นจากเดิมและให้เรียกว่าโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์  นับเป็นโรงเรียนระดับอุดมศึกษา  เพราะรับผู้ที่จบชั้นมัธยมบริบูรณ์แล้วเข้ามาเรียน
          พ.ศ. ๒๔๕๑  ให้ยกเว้นการเกณฑ์ทหารสำหรับนักเรียนโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์และโรงเรียนราชแพทยาลัย กิจการของโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ได้เจริญขึ้นตามลำดับ
          พ.ศ. ๒๔๕๖  ขยายการสอนการฝึกหัดครูให้สูงขึ้นถึงระดับครูมัธยมโดยรับนักเรียนที่ได้รับประกาศนียบัตรครูประถม  หรือผู้ที่จบชั้นมัธยมสามัญบริบูรณ์
          ๒๙  กันยายน  ๒๔๙๗  ประกาศตั้งกรมการฝึกหัดครู  เพื่อทำหน้าที่ผลิตครูที่ยังขาดวิทยฐานะครูให้มีวุฒิทางครู  และผู้ที่มีวุฒิทางครูได้รับวุฒิสูงขึ้น
          ๑๔  กุมภาพันธ์  ๒๕๑๘  มีการประกาศใช้  พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. ๒๕๑๘  กำหนดหน้าที่  ๕ ประการ คือ ผลิตครูถึงระดับปริญญาตรี  ค้นคว้า  ศึกษาวิจัย  ฝึกอบรมบุคลากรทางการศึกษาประจำการ ทำนุ บำรุง ส่งเสริม และพัฒนาวัฒนธรรมแห่งชาติ  ให้บริการวิชาการแก่ชุมชน
          พ.ศ. ๒๕๒๗  รัฐสภาให้ความเห็นชอบร่าง พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๗  แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. วิทยาลัยครู พ.ศ. ๒๕๑๘  กำหนดให้วิทยาลัยครูเป็นสถาบันการศึกษาและวิจัย  มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาวิชาการในสาขาวิชาต่าง ๆ สามารถผลิตบัณฑิตเพิ่มจากสายศึกษาศาสตร์ (ค.บ.) อีก ๒ สาย คือ สายวิทยาศาสตร์ (วท.บ.)  และสายศิลปศาสตร์ (ศศ.บ.)  รวม ๓ สายในหลายโปรแกรมวิชา ตามความต้องการของท้องถิ่นได้อย่างกว้างขวาง แต่คนทั่วไปยังคิดว่า  วิทยาลัยครูผลิตบัณฑิตเฉพาะสายครูเท่านั้น  บัณฑิตจากวิทยาลัยครูจะต้องประกอบวิชาชีพครูอย่างเดียว จุดนี้จึงทำให้ผู้ที่จบการศึกษาในสายวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.)  และสายศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) ขาดโอกาสในการได้งานทำ  ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานที่ได้ขยายตัวไป  และสอดคล้องกับความเป็นสากล  เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องและเพื่อประโยชน์ต่อนักศึกษาในสถาบันของกรมการฝึกหัดครู จึงขอ
พระราชทานนามวิทยาลัยครูใหม่แทนชื่อ  “วิทยาลัยครู”  และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  พระราชทานชื่อว่า “สถาบันราชภัฏ”  เมื่อวันที่ ๑๔  กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๕  คำว่า  “ราชภัฏ”  แปลว่า ข้าราชบริพารในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
           จากภารกิจที่เปลี่ยนแปลงและการได้รับพระราชทานชื่อเป็น  “สถาบันราชภัฏ”  การมีปณิธานที่จะทำหน้าที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นจึงได้ขอแก้ไขพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู เปลี่ยนเป็นพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ.  ๒๕๓๘   มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่  ๒๕  มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๘ เป็นผลให้วิทยาลัยครูทั่วประเทศ ๓๖ แห่ง  กลายเป็นสถาบันราชภัฏ   ๓๖   แห่ง  ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ๖  แห่ง ... “
          และเมื่อปี  พ.ศ.  ๒๕๔๗   มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ ส่งผลให้  สถาบันราชภัฏกลายเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฎ” ในปัจจุบัน
         ท่านผู้อ่านครับ  ในสมัยก่อน การศึกษาภาคบังคับของเราคือชั้นประถมศึกษาปีที่  ๔   โรงเรียนก็มีไม่มาก  ยิ่งโรงเรียนมัธยมศึกษานั้นจะมีเฉพาะในตัวจังหวัด หรือตามอำเภอใหญ่ ๆ  เท่านั้น
         โอกาสทางการศึกษาของนักเรียนทั่วไปมีน้อยนัก
         นักเรียนที่ จะเรียนต่อได้ ต้องเข้าองค์ประกอบ  ๓  ประการ คือ
         หัวดี  ใจสู้ และครอบครัวต้องมีฐานะพอสมควรที่จะส่งเสียได้
         แต่ก็มีนักเรียนหลายคนที่ขาดองค์ประกอบด้านที่สาม  แต่ด้วยความเข้มข้นของข้อ  ๒  คือ  “ใจสู้” ก็สามารถเดินไปถึงจุดหมายแห่งความสำเร็จได้เหมือนกัน
         เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น แต่มีข้อจำกัดเรื่องการเรียนต่อสายสามัญ ก็ต้องเบนเข็มมาสายอาชีพ คือ  อาชีวศึกษา  หรือ สายครู 
          สายอาชีพ  นักเรียนที่มีความถนัดทางด้านนี้ ก็จะมุ่งไปเรียนที่   โรงเรียนการช่าง โรงเรียนเกษตรกรรม  ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่ผลิตกำลังคนด้านวิชาชีพ เรียนกัน ๓ ปี จะได้วุฒิ ม.ศ. ๖ ซึ่งเทียบได้กับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพ   (ปวช.)  ในปัจจุบัน
          สายครู  นักเรียนที่ต้องการเรียนครู  ก็มีทางเลือกที่จะสอบเข้าเรียน  ป.กศ.  ที่วิทยาลัยครูซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดใหญ่ ๆ   เรียน  ๓  ปี  ได้ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา  สามารถออกมาสอบบรรจุเป็นครูได้เลย
         บางคนจบ ป.กศ.แล้ว อายุยังไม่ครบ   ๑๘  ปี ไม่สามารถสอบเข้ารับราชการได้  หรือต้องการเรียนต่อในระดับที่สูงขั้น  ก็เรียนต่อ   ป.กศ.สูง อีก   ๒  ปี ได้รับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง ซึ่งเทียบได้กับอนุปริญญา  แล้วออกไปสอบบรรจุเข้ารับราชการ   หรือจะเรียนต่อระดับปริญญา  คือ เรียน  หลักสูตร  การศึกษาบัณฑิต  (กศ.บ.)  ก็ต้องไปสอบแข่งขันเพื่อเข้าเรียนที่  “วิทยาลัยวิชาการศึกษา (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  :  ชื่อย่อว่า  มศว )  จบมาได้วุฒิปริญญาตรี แล้วจึงค่อยมาสอบบรรจุเป็นข้าราชการครู
          สมัยนั้นประเทศไทยกำลังขยายโอกาสทางการศึกษา จึงต้องการครูมากเป็นพิเศษ สถาบันผลิตครูหลัก คือ  วิทยาลัยครู และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงเร่งผลิตครูเป็นการใหญ่ มีการเปิดภาคค่ำ ที่เรียกว่า “ทไวไลท์”   ทำให้เกิดความนิยมเรียนครูกันมาก
           แม้แต่ข้าราชการสายอื่น ไม่ว่าจะเป็น  ทหาร ตำรวจ  ก็ยังสมัครเข้าเรียนเพื่อเพิ่มวุฒิทางการศึกษา  ทหารตำรวจชั้นประทวนหลายคนก็ได้ปริญญาด้านการศึกษานำไปเทียบหรือปรับวุฒิเป็นชั้นสัญญาบัตรมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย
        นักศึกษาวิทยาลัยครูหลายคน เป็นนักเรียนเรียนเก่ง สมัยแรก ๆ นั้น มีการคัดเลือกนักเรียนที่เป็นหัวกระทิ  สอบได้ที่  ๑  ที่  ๒   ของจังหวัด ส่งไปเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา แล้วกลับมาเป็นครู  หลายท่านได้รับความสำเร็จในชีวิตราชการ  ได้เป็นอธิบดี  ปลัดกระทรวง  อธิการบดี กันมากมาย 
         ในยุคต่อมาก็ยังคงมีนักเรียนเก่ง ๆ เป็นลูกชาวไร่ชาวนา หรือชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำ ที่พ่อแม่สามารถส่งให้เรียนมหาวิทยาลัยได้  ใช้เส้นทางจากการเรียนวิทยาลัยครูไล่เลาะไปหาความสำเร็จอีกจำนวนไม่น้อย โดยการเรียนให้จบ ป.กศ. แล้วสอบบรรจุเป็นครู  ระหว่างเป็นครู  สมัครเรียนหลักสูตร ประกาศนียบัตรครูพิเศษมัธยม (พ.ม.)  ซึ่งเป็นการศึกษาทางไกลรูปแบบการศึกษาคล้าย ๆ กับ รามคำแหง หรือ มสธ. ในปัจจุบัน  ถึงเวลาก็ไปสอบที่ตัวจังหวัด ซึ่งมีเงื่อนไขต้องสอบได้ ๔ ชุด ครูเก่งๆ บางคนใช้เวลาเพียง ๑ ปี ก็สอบ พ.ม. ได้ นำมาปรับวุฒิ ซึ่งวุฒิ พ.ม. เงินเดือนได้สูงกว่า ป.กศ.สูง ๒ ขั้น ได้ พ.ม. แล้ว สอบเรียนต่อระดับปริญญาตรี ที่เรียกว่า  เรียน กศ.บ. ภาคค่ำที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ใช้เวลาเรียน ๒ ปี เศษ ก็จบปริญญาตรี  หรือจะลาศึกษาต่อภาคปกติก็ได้
        ครูปริญญาตรีสมัยเมื่อสามสี่สิบกว่าปีที่ผ่านไปนั้น ในอำเภอหรือจังหวัดแทบจะนับตัวได้  จึงนับว่าเป็นคนดัง โก้หรูในวงการศึกษา
         หลายท่านได้อาศัยเงินเดือนครู  ทำงานไป เรียนไป  จนจบปริญญาโท ปริญญาเอก  พร้อมทั้งพัฒนาตนเองมาเป็นศึกษานิเทศก์  ผู้บริหารโรงเรียน  ผู้บริหารการศึกษา  มาเป็นศึกษาธิการจังหวัด  ผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา  หรืออธิการ อธิการบดี  เลขาธิการ ฯลฯ ในสายผู้สอนหลายท่านเป็น  ครูที่มีวิทยฐานะเชี่ยวชาญ  เชี่ยวชาญพิเศษ  เทียบกับข้าราชการพลเรือนระดับ  ๙  ระดับ  ๑๐ สมัยก่อน   ซึ่งท่านเหล่านั้นได้สร้างคุณประโยชน์ต่อวงการศึกษามากมาย
          นั้นคือ เส้นทางการศึกษาของครู ซึ่งปัจจุบันนับอายุก็ใกล้หรือเกินกว่าห้าสิบปีไปแล้ว ซึ่งถ้าไม่บันทึกเอาไว้ก็คงจะเลือนหายไป
         กลับมาที่เรื่องราวของเพลงกันครับ   ....
         เพลง  ว.ค. รอรัก  เป็นผลงานของ เกื้อ อุสาหะนนท์ ขับร้องโดย วินัย พันธุรักษ์ ผมจำได้ว่าเพลงนี้ได้รับความนิยมมากประมาณปี พ.ศ. ๒๕๒๒ -  ๒๕๒๔ 
         ในยุคต้นปี  พ.ศ.  ๒๕๒๐  นั้น  เพลงลูกกรุงยังครองใจผู้ฟัง  ในขณะที่เพลงแนวสตริงกำลังเริ่มได้รับ นักร้องลูกกรุงชายที่ยึดหัวหาดอยู่ก็มี    ธานินทร์  อินทรเทพ   ซึ่งโด่งดังกับงานเพลงซึ่งเป็นผลงานของ  ทวีพงษ์ มณีนิล จากเพลงชุด ขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก  ฉันวันนี้  อ่าวอารมณ์  ปั้นดินให้เป็นดาว  ขออภัย  ฝากเพลงลอยลม คนใจหิน  ชายหน้าซึม  ฯลฯ  ที่ตามมาก็คือ   ชรัมภ์ เทพชัย   นักร้องรูปหล่อ  ที่มีเสียงทุ้มนุ่มมัดใจผู้ฟัง ได้รับความนิยมจากเพลง  คนไกลบ้าน  ฐานันดรรัก   ชายคาหัวใจ  อุบัติเหตุนอกเส้นทาง  หนึ่งใจสองรัก  นานเท่าไรก็จะรอ  และเพลงแนวรำวงที่ขับร้องคู่กับ  จินตนา สุขสถิตย์
        และที่ไล่ตามมาติด  ๆ  ก็คือ   วินัย พันธุรักษ์  
        แฟนเพลงสมัยนั้น  คงจะนึกถึง  นักร้องและนักดนตรีชื่อดังของวงดนตรีดิอิมพอสสิเบิล ที่มีเอกลักษณ์ที่ใคร ๆ ต้องจำได้ คือผมฟู   วินัย พันธุรักษ์  ผันตนเองจากนักร้องแนวสตริงคอมโบ้มาเป็นนักร้องแนวลูกกรุงเต็มตัว 
         ผลงานเพลงลูกกรุงของวินัย  ดังเปรี้ยงปร้าง  ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงมากมายติดต่อกันหลายเพลง เช่น  ชู้ทางใจ  ชำมะเรียงเคียงใคร  แม่ยอดหญิง  ความสาวไม่สำคัญ  ลูกสาวกำนัน  บัวตอง  นกขุนทอง  ฯลฯ  โดยเฉพาะเพลง   “สิ้นกลิ่นดิน”   ที่ไปไหนต้องได้ยินเพลงนี้
                       “โฉมยง เจ้าคงไม่รักเราจริง        เราสิเชื่อทุกสิ่งรักจริงแต่เจ้าแจ่มจันทร์
                   รู้ไหมใครเขาคอยเฝ้าฝัน                 คิดถึงเจ้าทุกวัน แจ่มจันทร์เจ้าไม่กลับมา...
         หนังสือ  “รวมบทเพลง “THE IMPOSSIBLE  อีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์วงดนตรีไทย “  จัดทำโดย  ปราจีน ทรงเผ่า   ได้นำกล่าวถึงวินัย พันธุรักษ์  ว่า  วินัย พันธุรักษ์  มีชื่อเล่นว่า  “ต๋อย”  เกิดเมื่อปี  พ.ศ.  ๒๔๙๐  ที่อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี  สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยพาณิชยการพระนคร  เริ่มเล่นดนตรีตั้งแต่อายุ   ๑๔  ปี  โดยเป็นนักร้องเด็กในวงพยงค์ มุกดา  เริ่มเล่นดนตรีอาชีพกับวงดนตรีต่าง ๆ หลายวง  ภายหลังมาร่วมงานกับเศรษฐา ศิริฉายา  กับวงดนตรีดิอิมพอสสิเบิล  ทำหน้าที่แกะเพลงในยุคต้น ๆ ก่อนที่ปราจีน ทรงเผ่าจะมารับหน้าที่แทน  วินัยเป็นนักดนตรีและนักร้องที่มีความสามารถ
       เพลงที่ขับร้องกับดิอิมพอสสิเบิล ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีได้แก่เพลง   ไหนว่าจะจำ  คอยน้อง   บันทึกเสียงเมื่อปี  พ.ศ.  ๒๕๑๕
         หลังจากยุบวงดิอิมพอสสิเบิล  วินัย พันธุรักษ์ ได้ร่วมงานกับ  เรวัติพุทธินันท์   ตั้งวงดนตรี  THE  ORIENTEL  FUNK   เดินทางไปเล่นแถวประเทศสแกนดิเนเวีย  หลังจากเลิกวงแล้ว วินัยได้ออกอัลบั้มเดี่ยว  “ได้รับความสำเร็จล้นหลามจากเพลง  สิ้นกลิ่นดิน  ว.ค.รอรัก  ชู้ทางใจ ฯลฯ”  
        ปัจจุบันทำธุรกิจให้เช่าเครื่องดนตรีและระบบแสงเสียง  เป็นครูสอนร้องเพลงให้กับสถาบันการดนตรีที่ทีชื่อเสียง  และเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักร้องแห่งประเทศไทย        
         สำหรับเพลง ว.ค.รอรัก ซึ่งเป็นเพลง “ดัง” ของ วินัย พันธุรักษ์  แต่งโดย  เกื้อ อุตสาหะนนท์ ดวน
ศรีสะอาด  ทำดนตรี

เพลง ว.ค.รอรัก
                         อีกหน่อยเธอก็จะลืมฉัน                   วันนั้นฉันพูดกับเธอไว้
               เธอเถียงว่าเป็นไปไม่ได้                            และจะไม่ลืมฉันเมื่อเรียน ว.ค.
               ก่อนจากเธอรับปากแน่นัก                        ความรักฉันจึงไม่ย่อท้อ
                ฉันนี้ไม่มีเงินเรียนต่อ                               ฉันจึงรอเธอจบ มศว มา
                         ฉันเพียงเป็นครูบ้านนอก                 มือเปื้อนชอล์ก เป็นครูไร้ปริญญา
                สอนเด็กตามดอยตามป่า                         ฉันอุตส่าห์รอเธอเป็นคู่ชีวา
                         แต่ข่าวเธอก็กรอกในหู                   ฉันรู้เธอได้กับเศรษฐี
                 ฉันช้ำน้ำตารินไหลปรี่                            ฟ้าเปลี่ยนสีมือที่จับชอล์กเย็นชา
          เพลง ว.ค.รอรัก  แม้จะเป็นเพลงแนวรัก ผิดหวัง ผู้แต่งใช้ภาษาง่าย ๆ สื่อความหมายได้ชัดเจนตรงไปตรงมา ดนตรีก็เรียบง่าย เป็นเพลงฟังสบาย ๆ  ไม่ได้แสดงถึงอารมณ์เศร้าโศกรันทดรุนอย่างรุนแรง  ฟังคล้าย ๆ กับเป็นการตัดพ้อมากกว่า  
          เสน่ห์ของเพลงอยู่ที่ความเรียบง่าย  และมีเป้าหมายถึงกลุ่มผู้ฟังที่ชัดเจน
          หลักของการแต่งเพลงสำคัญที่นักแต่งเพลงหลายท่านสอนเอาไว้คือ   เขียนเพลงให้ตรงเป้า ยิ่งถ้าเป้าหมายที่มีเป็นจำนวนมาก โอกาสของเพลงที่จะได้รับความนิยมยิ่งมีมาก   ดังนั้นเราจึงได้ฟัง เพลงที่นำเอาเรื่องราวชีวิตของคนอาชีพต่าง ๆ  มาเล่าขานผ่านบทเพลง ซึ่งก็ได้รับความสำเร็จมากมาย
          สำหรับเพลง  ว.ค.รอรัก เป้าหมายที่ตรงที่สุดคือ  ครู นักศึกษาวิทยาลัยครู และนิสิตมหาวิทยาศรีนครินทรวิโรฒ  หรือผู้เกี่ยวข้องในวงการครู  และนักฟังเพลงทั่วไปที่นิยมและชื่นชอบในน้ำเสียงของ วินัย พันธุรักษ์ 
          ฟังเพลง ว.ค.รอรักแล้ว มองเห็นภาพของครูหนุ่มที่จบ ป.กศ.สูง มาแล้วออกไปเป็นครูสอนโรงเรียนในชนบท
          ครูคนนี้ก่อนจะจบจากวิทยาลัยครูมีคนรักซึ่งเรียนอยู่ที่เดียวกัน 
          อย่างที่ผมเรียนไว้ข้างต้น   เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน เส้นทางของคนเรียนครู จบ หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง  ส่วนใหญ่จะออกไปสอบบรรจุเป็นครู
           ถ้าอยากเป็นครูโรงเรียนมัธยมศึกษา ก็ต้องสอบครูสังกัดกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งโรงเรียนมักตั้งอยู่ในเขตเมือง ตามจังหวัด อำเภอ ตำบลใหญ่ ๆ  แน่นอนการแข่งขันต้องมีสูง  คนที่เรียนเก่ง จบมาได้เกรดสูง มักจะเลือกเส้นทางนี้
           ทางสายหนึ่งที่มีโอกาสสอบได้มาก  คือการสอบครูประถมศึกษา  ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดตามจังหวัดต่าง ๆ  เปิดรับกันมากมายทุกปี   เมื่อปี  พ.ศ.  ๒๕๒๓   มีการถ่ายโอนโรงเรียนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด กระทรวงมหาดไทย กลับมาอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ  กรมที่มีหน้าที่ดูแลการประถมศึกษาก็คือ   “สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ”  ซึ่งเรียกกันว่า  “สปช.” การสอบบรรจุเป็นครู สปช.  โดยมากมักจะต้องไปบรรจุเป็นครูที่โรงเรียนในชนบท
          สำหรับนักศึกษาบางราย  พอจบ ป.กศ.สูงแล้ว  หลายคนยังไม่สอบบรรจุ ต้องการเรียนให้จบปริญญาก็มักจะเบนเข็มไปสอบเข้า   มศว.  หรือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ   ซึ่งรับนักศึกษาที่จบหลักสูตรป.กศ.สูง   เข้ามาเรียนอีก  ๒  ปี ก็จะได้รับปริญญา “การศึกษาบัณฑิต”  ที่มีชื่อย่อ ๆ  ว่า   กศ.บ. หลังจากนั้นจึงค่อยมาสอบบรรจุเป็นครู
           มศว  หรือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  เป็นสถาบันหลักในการผลิตครูระดับปริญญา ยกฐานะมาจาก  วิทยาลัยวิชาการศึกษา  ซึ่งมีที่มาจากโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง
          เรื่องมีอยู่ว่า  เมื่อ ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี เดินทางกลับจากการศึกษาที่สหรัฐอเมริกาและเข้าดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงที่ถนนประสานมิตร เมื่อประมาณปี  พ.ศ.  ๒๔๙๕ ก็ได้ริเริ่มดำเนินการเพื่อเปิดสอนวิชาการศึกษาให้ถึงระดับปริญญาตรี เพราะขณะนั้นวุฒิทางครูอย่างสูงที่ผลิตในเมืองไทย ก็คือ  ป.ม. เทียบเท่าอนุปริญญา
         เมื่อมีการประกาศพระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษา พ.ศ.  ๒๔๙๗  ประเทศไทยก็มีสถาบันผลิตครูระดับปริญญา ให้ชื่อปริญญาว่า  การศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.)  และมีโครงการที่จะเปิดสอน ปริญญาโท ปริญญาเอก
          โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงที่ถนนประสานมิตร จึงกลายมาเป็น  วิทยาลัยวิชาการศึกษา ซึ่งคนมักจะเรียกว่า  ว.ศ. ประสานมิตร ขยายตัวไปที่ปทุมวัน และเริ่มขยายตัวไปสู่ส่วนภูมิภาคที่บางแสน พิษณุโลก มหาสารคาม  สงขลา  ฯลฯ
        ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี  ท่านกำหนดแนวทางการผลิตบัณฑิตของวิทยาลัยวิชาการศึกษาว่ามีความมุ่งหมายใหญ่ ๆ  ๓  ประการ คือ
          ให้บัณฑิตได้มีความรู้ในทางวิชาการเป็นอย่างดี
          ให้บัณฑิตได้มีความรู้ในทางวิชาชีพครูเป็นอย่างดี
          ให้บัณฑิตได้เกิดมีความสามารถต่าง ๆ  เป็นความสามารถทางการปกครองและอบรม ความสามารถในการสอนและการใช้อุปกรณ์การสอน ความสามารถในการติดต่อกับผู้ปกครองและประชาชน ความสามารถในการค้นคว้าวิจัย   ฯลฯ
          ผมประทับใจคติพจน์ที่ท่านได้มอบให้แก่นักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษาที่ว่า
          “ขอให้นิสิตนักศึกษาทุกคน  มีความรู้ประดุจนักปราชญ์ และมีความประพฤติประดุจผู้ทรงศีล”
        ปี  พ.ศ.  ๒๕๑๗  วิทยาลัยวิชาการศึกษาได้รับการยกฐานะเป็น  “มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ”  นาม “ศรีนครินทรวิโรฒ” เป็นนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยทรง พระราชทานความหมายกำกับว่า  “ศรีนครินทรวิโรฒ (มหาวิทยาลัย) ที่เจริญเป็นศรีสง่าแก่พระนคร”
         คนทั่วไปมักจะเรียกชื่อย่อว่า   มศว.
         ภายหลังวิทยาเขตของ มศว  แยกออกไปเป็นมหาวิทลัย อิสระ  เช่น  มศว บางแสน เป็นมหาวิทลัยบูรพา   มศว พิษณุโลก เป็น มหาวิทยาลัยนเรศวร  มศว มหาสารคาม เป็น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ฯลฯ ปัจจุบัน จึงเหลือเพียงแห่งเดียวคือ   มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  ที่ถนนประสานมิตร  และขยายออกไปที่อำเภอองครักษ์  จังหวัดนครนายก
          ก็อย่างที่นำเรียนเอาไว้ข้างต้นว่า เมื่อสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา  การสอบเข้าเรียน  มศว  นั้นยากมาก เพราะรับนักศึกษาน้อย ฉะนั้นถ้าคนไหนสอบเข้าได้นับว่ามีอนาคตสดใส  ได้เป็นครูปริญญาแน่นอน
          การได้มาเรียน  มศว   จึงกลายเป็นความใฝ่ฝันของผู้ที่จบ  ป.กศ.สูง ทุกคน
          โดยเฉพาะภาคปกติ  นั้น   บางวิชาเอกรับ   ๓๐  คน แต่มีผู้สมัครจำนวนหลายร้อยคน
          ภายหลัง  วิทยาลัยครูเริ่มเปิดหลักสูตรปริญญาตรี  “ครุศาสตร์บัณฑิต”  หรือ ค.บ. การแข่งขันเข้าเรียน มศว จึงมีน้อยลง
           เพลง ว.ค.รอรัก นำเรื่องของครูหนุ่มครูสาวในยุคนั้นมาเขียนเพลง          
           ความรัก เมื่อมีชนชั้นเข้ามาเกี่ยวข้องฉันใด ความไม่แน่นอนย่อมเกิดขึ้นฉันนั้น
           ถ้าสวมวิญญาณครูหนุ่มที่สอนบ้านนอกกลางดอยกลางป่า มีคนรักเรียน  มศว   อาจจะเกิดความรู้สึกต่ำต้อยน้อยใจในวาสนา
           เพราะ  “ฉันนี้ ไม่มีเงินเรียนต่อ  ฉันจึงรอเธอจบ มศว มา”
           ขณะที่เราสอนเด็กหมกตัวอยู่ตามดอยตามป่า  แต่เธอกำลังสนุกอยู่กับการเรียนในมหาวิทยาลัย
           อะไรจะเกิดขึ้น   ถ้าเป็นภาพยนตร์หรือละครก็คงจะเดาไม่ผิด  ....
           “ฉันรู้เธอได้กับเศรษฐี  ฉันช้ำน้ำตารินไหลปรี่  ฟ้าเปลี่ยนสีมือที่จับชอล์กเย็นชา”  คือบทสรุปของเพลง
            ผมชอบบทเพลงวรรคนี้ ที่ผู้แต่งเลือกเอาคำง่าย ๆ  แต่สื่อได้ “กินใจ”
            “ฟ้าเปลี่ยนสี” กับ “มือที่จับชอล์กเย็นชา” นั้นมองเห็นภาพคนที่สิ้นหวังและหมดกำลังใจได้อย่างชัดเจน
           ผมไม่มีข้อมูลที่มาของเพลง และไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้แต่ง  แต่ก็เชื่อว่า คงจะเป็นคนในวงการศึกษา จึงเขียนเพลงได้เข้าถึงหัวใจของครู โดยเฉพาะครูหนุ่ม ๆ ที่สอนในโรงเรียนชนบท
          เพลง ว.ค.รอรัก จบลงด้วย “น้ำตา”
          ภาคต่อไป มองไม่ออกว่า  ครูไร้ปริญญาคนนั้นจะเป็นอย่างไร
          ต้องอาศัยจินตนาการ  ...
          อาจจะเสียใจกับความผิดหวัง ต้องหาสาวชาวบ้านมาเป็นคู่เคียงกาย และมานะบากบั่นทำงาน จนวันนี้  อาจจะเป็นครูที่มีวิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ หรือครูเชี่ยวชาญ
          หรืออาจจะเบนเข็มเป็นผู้บริหาร มาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน  ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา  เป็นผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการ
           หรืออาจจะเป็นเพียง ครูชำนาญการ สอนที่โรงเรียนในชนบทที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย สุขสงบ
           สำหรับเธอผู้นั้น  อาจจะเป็น ครูที่เฉิดฉันท์อยู่ในเมืองอย่างมีความสุขด้วยฐานะของสามี
           หรือ ชีวิตครอบครัวที่ล้มเหลว  ก็สุดจะคาดคิด  .....
           ครับ เพลง ว.ค.รอรัก เป็นเสมือนหนึ่งบันทึกเสี้ยวประวัติศาสตร์ของคนในวิชาชีพครูในอดีตเมื่อเกือบสี่สิบปีที่แล้ว 
           ผมขอใช้บทความนี้คารวะ “ครูอาจารย์”  และ “สถาบันฝึกหัดครู”คือ  วิทยาลัยครู และมหาวิทยาลัยศรีนครินทวิโรฒ ในโอกาสวันครู พุทธศักราช   ๒๕๕๖....


--------------------
วิทยาจารย์ มกราคม ๒๕๕๖
           
    
 
         
            


 สั่งพิมพ์หน้านี้
 ดาวน์โหลดไฟล์แนบ
ข้อมูลข่าววันที่: 23 มกราคม 2561
ผู้อ่าน: 823 คน

  ผู้บริหารหน่วยงาน  


นายธราพงศ์ สุเทียนทอง

รอง ผอ.สพป.พิษณุโลก เขต 1




นาง สุทัศน์  จำปาศักดิ์

 ผอ.กลุ่มอำนวยการ

   

นางศิริพร ทรัพย์ปฐวีกุล
นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ

-ว่าง-
นักประชาสัมพันธ์ปฏิบัติการ

นางสาวณิชาภา อำพวลิน
เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน

นางสาวเพชรรัตน์  เชื้อศรีสกุล
นักจัดการงานทั่วไป

นายมนตรี ทรัพย์ปฐวีกุล
เจ้าพนักงานธุรการ ส 4

นายวรชิต ม่วงสวน
เจ้าพนักงานธุรการ ส 4

นางรุ่งเรือง กะลำภา
แม่บ้าน

นางรัตนา ม่วงสวน
พนักงานจ้างเหมาบริการ

นายปณิธาน คงมั่น
พนักงานขับรถยนต์

นายบุญฤทธิ์    แซ่เอี้ยว
พนักงานขับรถยนต์

นายสุวิทย์ เดชอิ่ม
พนักงาน จ้างเหมาบริการ

นายสมเกียรติ พูนมาก
พนักงานรักษาความปลอดภัย


  บริการข้อมูล  
   
  การประเมินคุณธรรมความโปร่งใส  
   
  คู่มือปฏิบัติงานกลุ่มอำนวยการ  
   
  งานมาตรฐานสำนักงานเขตพื้นที่  
   
  ทำเนียบข้าราชการ  
   
  ระบบควบคุมภายใน  
   
  การประเมินตัวชี้วัด  
   
  รายงานผลการวิจัยทางการศึกษา  
   
  คลินิกแก้ไขปัญหาหนี้สินครู  
   
  ระบบราชการ 4.0 (PMQA 4.0)  
   
  การประชุม ผู้บริหารสถานศึกษา  
   
  เชื่อมโยงลิงค์อื่นๆ  
 
  โรงเรียนในสังกัด  
 
  เฟสบุ๊ค แฟนเพจ  
 

 
  สถิติผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์  
 

 
  พยากรณ์อากาศ  
 

 

จำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์