กลับหน้ารวมบทความทั้งหมด
แม่พิมพ์ของชาติ
รายละเอียดเพิ่มเติม
รสไม้เรียวจากมือครูเมื่อเราทำความผิด เพื่ออบรมสั่งสอนให้ศิษย์ประพฤติตนเป็นคนดียังจำกันได้ไหม... ตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ไปจนถึงปริญญาเอก ครูของท่าน ครูของผมมีมากมาย ท่านใดที่ประทับใจมักจะจำได้แม้เวลาจะผ่านไปหลายสิบปีแล้ว ลองนึกถึงท่านดูเถิดครับ
คนไทยเรานับถือเคารพเชื่อฟังและเทิดทูนครูไว้อย่างสูง นอกจากจะเคารพครูผู้สอนโดยตรงแล้วแม้แต่ความรู้ที่ได้รับจากการจดจำเอามาจากผู้อื่นที่เรียกว่า “ครูพักลักจำ” คนไทยก็ยังถือว่าเป็นครูของตน
จากการเรียนการสอนตามอัธยาศัยไม่มีรูปแบบ ไม่มีหลักสูตร ไม่มีกำหนดระยะเวลา ตามวัง วัด และบ้าน เปลี่ยนแปลงมาเป็นโรงเรียน มีผู้ประกอบวิชาชีพครูโดยเฉพาะ
มีการจัดตั้งกระทรวงศึกษาธิการเพื่อทำหน้าที่จัดการศึกษาและดูแลครูจนการศึกษาไทยมีรูปแบบและระบบการศึกษาที่ชัดเจน
ในด้านการส่งเสริม สนับสนุนวิชาชีพครู ผู้ใหญ่ในสมัยก่อนท่านถือเป็นเรื่องสำคัญจึงได้ประกาศใช้ พระราชบัญญัติครู เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๘
กฎหมายฉบับนี้แหละครับซึ่งเป็นที่มาของ “คุรุสภา” หรือสภาของครูเหมือนกับวิชาชีพชั้นสูงอื่นๆ ที่มีสภาวิชาชีพคอยกำกับและควบคุมจรรยาวิชาชีพของสมาชิกอย่างแพทยสภา เนติบัณฑิตสภา ฯลฯ
เมื่อปี ๒๕๔๘ ได้มีการพูดถึงความสำคัญของครูและวิชาชีพครูในฐานะที่ครูคือผู้ประกอบคุณงามความดีแก่สังคม ทางสื่อมวลชนต่างๆ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นความสำคัญของครูโดยกล่าวปราศรัยในที่ประชุมผู้แทนคณะครูทั่วประเทศที่คุรุสภาว่า
“...ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างแก่ชีวิตเราทั้งหลายได้แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครู ผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับคนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาบรรดาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญทำทานคนที่สองรองไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย เราก็อยากจะมีวันครูสักวันหนึ่ง วันนั้นเป็นวันที่ลูกศิษย์จะได้ทำความเคารพสักการะแก่บรรดาผู้เป็นครูทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าโอกาสในโอกาสนี้จะขอพวกที่ประชุมนี้ไว้ด้วย ปรึกษาหารือกันในหลักการทุกคนจะไม่ขัดข้อง...”
จากดำริของท่านนายกรัฐมนตรี คุรุสภาได้นำหลักการนี้เข้าประชุมและมีความเห็นว่าควรกำหนดเอาวันที่ ๑๖ มกราคม ของทุกปีเป็นวันครู
เหตุที่เลือกวันที่ ๑๖ มกราคม เพราะวันนี้เป็นวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี ๒๔๘๘
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๔๘๘ ให้วันที่ ๑๖ มกราคม ของทุกปีเป็นวันครูและให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้เด็กและครูหยุดในวันดังกล่าวได้
การจัดงานวันครูครั้งแรกจึงเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เคยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนทั่วไปได้เห็นความสำคัญและระลึกถึงพระคุณครู
จากปี ๒๕๐๐ มาถึงวันนี้ การจัดงานวันครูได้ดำเนินต่อเนื่องและยั่งยืนมาโดยตลอด ในงานวันครู นอกจากเสียงดนตรีไทยที่บรรเลงคลอก่อนจะเริ่มพิธีการบูชาบูรพาจารย์แล้วผู้ไปร่วมงานก็จะได้ยินเสียงเพลงๆ หนึ่ง ซึ่งผู้จัดงานวันครูมักจะนำมาเปิดในงานทุกครั้ง เพลงนี้ได้รับการยอมรับกันโดยปริยายว่าเป็นเพลงของครู โดยเฉพาะบรรดาครูบาอาจารย์ที่สอนนักเรียนในชนบท
“แม่พิมพ์ของชาติ” คือชื่อเพลงนี้ครับ.. คำว่า แม่พิมพ์ นั้น คือสัญลักษณ์ซึ่งเป็นผู้ที่รู้โดยทั่วไปว่าหมายถึงผู้มีอาชีพครูผู้ทำหน้าที่สร้างคนเหมือนกับแม่พิมพ์ที่ผลิตสิ่งของออกมาเป็นจำนวนมาก...
ทั้งครูชายครูหญิง คือแม่พิมพ์ตามความหมายนี้ ไม่ใช่ครูหญิง เรียกว่า แม่พิมพ์ แต่ครูชาย เรียก พ่อพิมพ์อย่างที่หนังสือพิมพ์หลายฉบับใช้กันอย่างผิดๆ
ผมชอบชื่อเพลงที่ผู้แต่งนำคำว่า แม่พิมพ์ มาประกอบคำว่า “ของชาติ” แสดงถึงความสำคัญของวิชาชีพครูได้อย่างดีที่สุด
ครูไม่ใช่เพียงแม่พิมพ์ธรรมดา แต่เป็นแม่พิมพ์ของชาติผู้ที่ช่วยกันสร้างให้เพลงแม่พิมพ์ของชาติเป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ และกลายเป็นเพลงในดวงใจของครู คือ สุเทพ โชคสกุล และ วงจันทร์ ไพโรจน์
คนแรกเป็นผู้แต่งเพลงทั้งคำร้องและทำนอง ส่วนคนที่สองนั้นคือ นักร้องหญิงชื่อดังของวงการเพลงไทย
ซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดและขับขานบทเพลงออกมาสู่ประชาชน
ครู สุเทพ โชคสกุล มีชื่อเดิมว่า สงัด เกิดที่บ้านตั้งใหม่ ริมแม่น้ำท่าจีน ตำบลท่าพี่เลี้ยง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๗๐
ท่านเป็นคนที่ชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เด็กๆ สมัยเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาได้ฉายแววของการเป็นนักร้อง
นักดนตรี โดยได้รับคัดเลือกเป็นต้นเสียงร้องเพลงชาติหน้าเสาธงและต้นเสียงการร้องเพลงทุกเพลงของโรงเรียน เริ่มหัดดนตรีจากพี่ชายซึ่งมีคณะแตรวง จนสามารถออกรับงานหาเงินซื้อควายให้พ่อแม่ได้ ในยุคหนังเงียบครูสุเทพ โชคสกุล หารายได้ด้วยการเป็นคนเป่าแตรหน้าโรงหนัง จึงได้ดูหนังดูละครทุกเรื่องจนจำเพลงละครมาร้องได้หมด
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบ ได้สมัครเป็นครูประชาบาล ขณะนั้นอำเภอเมืองสุพรรณบุรีกำลังจะตั้งวงแตรวงของอำเภอพอดี ท่านจึงได้รับการบรรจุเป็นครู ด้วยความขยันและเป็นคนเรียนเก่งทำให้สอบวิชาครูจนได้วุฒิครูพิเศษมัธยมหรือ พ.ม. ซึ่งนับว่ายากยิ่งในวงการครูสมัยนั้น
ครูสุเทพ โชคสกุล เคยตั้งวงดนตรีและทำแผ่นเสียงเอง โดยมีนักร้องชื่อดังเคยร่วมงานกับท่านมากมาย เช่น คำรณ สัมบุณณานนท์ สมยศ ทัศนพันธ์ ชัยชนะ บุญยะโชติ ก้าน แก้วสุพรรณ สมศรี ม่วงศรเขียว ศรีสอางค์ ตรีเนตร วงจันทร์ ไพโรจน์ เอมอร วิเศษสุต ศิริจันทร์ อศรางกูรฯ สุเทพ วงศ์กำแหง ธานินทร์ อินทรเทพ รังษิยา บรรณกูรฯ
ผลงานเพลงที่มีชื่อเสียง คือ เพลงชีวิตครู มนต์การเมือง หวยใต้ดิน ขับร้อง โดยคำรณ สัมบุณณานนท์ นอกจากนั้นยังได้แต่ง เพลงสั้นๆ ประกอบการศึกษาไว้มากมายผลงาน ดีเด่นคือ เป็นผู้นำการสอนหนังสือ
ด้วยเพลง เป็นคนแรกของประเทศไทย ท่านได้ลงทุนทำแผ่นเสียง เพลงประกอบการศึกษาเพื่อเผย แพร่ความคิดออกได้ทั่วประเทศ จนได้สมญาว่า “ราชาเพลงประกอบการเรียน” ตำแหน่งสุดท้ายในชีวิตราชการก็คือ หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ จังหวัดสุพรรณบุรี
ครูสุเทพ โชคสกุล เสียชีวิตไปแล้วเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ สำหรับ วงจันทร์ ไพโรจน์ นามนี้คงจะเป็นที่รู้จักกันดีเพราะเธอคือนักร้องหญิงคนหนึ่งซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นนักร้องอมตะคนหนึ่งของวงการเพลง
วงจันทร์ ไพโรจน์ มีชื่อเดิมว่า ดวงจันทร์ ไพโรจน์ เป็นชาวกรุงเทพฯ เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ การศึกษาจบชั้น ม.๖ จากโรงเรียนสตรีเพชรบุรี เริ่มเข้าสู่วงการเพลงด้วยการเข้าร่วมประกวดร้องเพลงชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ได้ตำแหน่งรองชนะเลิศ ครูมงคล อมาตยกุล ได้ให้การสนับสนุนโดยแต่งเพลง “ช่างร้ายเหลือ” ให้ร้องเป็นเพลงแรง ซึ่งก็ได้รับความสำเร็จมีชื่อเสียงโด่งดังอย่างรวดเร็ว
เพลงเด่นของวงจันทร์ ไพโรจน์ มีมากมาย เช่น กุหลาบเวียงพิงค์ ไทรโยคแห่งความหลัง สาวบ้านแพน ถึงร้ายก็รัก วังบัวบาน บุษบาเสี่ยงเทียน สายน้ำไม่ไหลกลับ อุทยานดอกไม้ โลกนี้ยังมีผู้ชาย แม่วังพิลาป สาวสะอื้น น้ำตาชาวเหนือ ฯลฯ
และเพลงสำคัญที่เกี่ยวกับชีวิตของครูก็คือ “แม่พิมพ์ของชาติ”
เสียงเรืองเรืองที่ส่องประเทืองอยู่ทั่วเมืองไทย คือแม่พิมพ์อันน้อยใหญ่โอ้ครูไทยในแดนแหลมทอง
เหนื่อยยากอย่างไรไม่เคยบ่นไปให้ใครเขามอง ครูนั้นยังลำพองในเกียรติของคนเสมอมา
ที่ทำงานช่างสุดกันดารในป่าพงไพร ถึงจะไกลก็เหมือนใกล้เร่งรุดไปให้ทันเวลา
กลับบ้านไม่ทันบางวันต้องไปอาศัยหลวงตา ครอบครัวคอยท่าไม่รู้ว่าไปอยู่ที่ไหน
ถึงโรงเรียนก็เจียนจะสายจวนได้เวลา เห็นศิษย์รออยู่พร้อมหน้าต้องรีบมาทำการสอน
ไม่มีเวลาที่จะได้มาหยุดพอพักผ่อน โรงเรียนในดงป่าดอนให้โหยอ่อนสะท้อนอุรา
ชื่อของครูฟังดูก็รู้ชวนชื่นใจ งานที่ทำก็ยิ่งใหญ่สร้างชาติไทยให้วัฒนา
ฐานะของครูใครใครก็รู้ว่าด้วยหนักหนา ยังสู้ทนอุตส่าห์สั่งสอนศิษย์มาเป็นหลายปี
นี่แหละครูที่ให้ความรู้อยู่รอบเมืองไทย หวังสิ่งเดียวคือขอให้เด็กของไทยในพื้นธานี
ได้มีความรู้เพื่อช่วยเชิดชูไทยให้ผ่องศรี ครูก็ภูมิใจที่สมความเหนื่อยยากตรากตรำมา
เพลงแม่พิมพ์ของขาติ แต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ที่มาของเพลงเกิดจาก เมื่อครูสุเทพ โชคสกุล แต่งเพลง “ชีวิตครู” ให้คำรณ สัมบุณณานนท์ ขับร้อง เพลงได้รับความนิยมจากผู้ฟัง แผ่นเสียงขายดีมาก บริษัทจึงติดต่อให้แต่งเพลงเกี่ยวกับชีวิตครูออกมาอีก ครูสุเทพได้แต่งเพลงแม่พิมพ์ของชาติขึ้นตั้งใจให้ คำรณขับร้องอีก แต่บริษัทแผ่นเสียงขอให้เป็นเสียงของนักร้องหญิง วงจันทร์ ไพโรจน์ จึงได้เป็นผู้ขับร้อง กลายเป็นเพลงอมตะมาจนถึง
ทุกวันนี้
เพลงแม่พิมพ์ของชาติ มีเนื้อเพลงยาวคล้ายๆ กับกลอนสุภาพมี ๕ บท หรือ ๕ ท่อน แต่ละวรรคจะมีคำมากระหว่าง ๑๐-๑๒ คำ
บทแรกเปิดฉากด้วยการใช้แสงเรืองเรือง นำไปเปรียบกับครูที่มีอยู่ทั่วเมืองไทย แสงเรืองเรืองในที่นี่ไม่ใช่แสงจ้า เหมือนแสงอาทิตย์แต่คงเป็นแสงเทียน ซึ่งในวงการครูใช้เป็นสัญลักษณ์ แสงเทียนเล่มน้อยที่ค่อยๆ เปล่งประกายขับไล่ความมืดหรือความโง่เขลาของคนคือ ครูจำนวนมากมายที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ
บทที่สองสามเผยให้เห็นถึงความยากลำบากของครูในพื้นที่กันดาร โดยเฉพาะการเดินทางที่ต้อง “เร่งรุดไปให้ทันเวลา” เพราะความรับผิดชอบต่อ “ศิษย์รอยู่พร้อมหน้า” จนถึงขนาด “กลับบ้านไม่ทันบางวันต้องไปอาศัยหลวงตา” นั้นสะท้อนให้เห็นภาพและภาระของครูในชนบทได้อย่างชัดเจน
แม้ว่า “โรงเรียนในดงป่าดอนให้โหยอ่อนสะท้อนอุรา” หรือ “ฐานะของครูใคร ๆ ก็รู้ว่าด้วยหนักหนา” แต่ครูก็ยังมีอุดมคติในการทำงาน “ครูสู้ทนอุตส่าห์สั่งสอนศิษย์มาเป็นหลายปี” ทั้งนี้ เพราะครูรู้ว่างานที่ตนทำนั้น คืองานสร้างชาติ
เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า การพัฒนาชาติ คือการพัฒนาคน และวิธีการพัฒนาคนที่ดีสุดคือการให้การศึกษาซึ่งเป็นหน้าที่หลักของครู
บทสุดท้าย เป็นการสรุปให้เห็นถึงปรัชญาและอุดมการณ์ของครูได้อย่างชัดเจน ผู้แต่งได้เอาหัวใจของครูทั้งแผ่นดินมาตีแผ่
เหนื่อย หนัก ยากลำบาก ครูไม่เคยท้อแท้ ขอเพียงให้ศิษย์ของครู “ได้มีความรู้” เพื่อ “เชิดชูไทยให้ผ่องศรี” “ครูก็ภูมิใจที่สมความเหนื่อยยากตรากตรำมา” ภาษาที่เรียบๆ แต่งดงามด้วยความจริงแห่งชีวิตครูที่ปรากฏในบทเพลงแม่พิมพ์ของชาติอย่างนี้แหละครับ ที่ส่งผลให้กลายเป็นเพลงอมตะ และเป็นเพลงที่อยู่ในหัวใจของครูและผู้มีครูอยู่ในหัวใจทุกคน
ความดีเด่นของเพลง นอกจากรางวัลจากประชาชนคือการเป็น “เพลงดัง” แล้วคณะกรรมการคัดเลือกเพลงลูกทุ่งดีเด่นในงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ได้เสนอเพลงแม่พิมพ์ของชาติให้เป็นเพลงทรงคุณค่าของแผ่นดิน ๑ ใน ๗ เพลง นอกจากนั้นคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติยังได้ประกาศยกย่องให้เป็นเพลงลูกทุ่งดีเด่นที่ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗
แม้ว่าวันนี้ “ครู” ได้กลายเป็นวิชาชีพชั้นสูงที่มีมาตรฐาน ความก้าวหน้าของครูมีเส้นทางที่เทียบเท่าได้กับผู้บริหารระดับอธิบดี ฐานะของครูมิได้ “ด้อยหนักหนา” อย่างที่เคยคิดกันเองในสมัยก่อนแล้ว แต่เพลงแม่พิมพ์ของชาติก็เป็นเสมือนบันทึกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์แห่งวงการครูและวงการศึกษาไทย